เลื่อนอ่านคำพิพากษาคดี “สาวซีวิค” ญาติผู้เสียชีวิตพร้อมยุติคดี ถ้าจำเลยยอมรับผิด

วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เวลา 11:59:41 น.

Share10


ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ห้องพิจารณา 5 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สนามหลวง เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 มิ.ย.55 ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีขับรถโดยประมาทหมายเลขดำหมาย 1233/2554 ที่อัยการคดีเยาวชนและครอบครัว 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.แพรวพราว (นามสมมุติ) อายุ 18 ปี เป็นจำเลย ในความผิดฐานฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายต่อร่างกายบาดเจ็บสาหัส และทรัพย์สินเสียหาย และข้อหาใช้โทรศัพท์ขณะขับรถยนต์

อัยการยื่นฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.53 เวลากลางคืน จำเลยขับรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าซีวิค หมายเลขทะเบียน ฎว-8461 กรุงเทพมหานคร ขึ้นบนทางยกระดับโทลล์เวย์ ขาเข้ามุ่งหน้า ถ.ดินแดงด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจำเลยได้กระทำประมาทโดยปราศจากความระมัดระวังที่บุคคลในภาวะปกติจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ โดยจำเลยไม่ขับรถในช่องทางซ้าย เมื่อมาถึงบริเวณแยกทางลงบางเขน ช่วงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เปลี่ยนช่องทางไปมา เปลี่ยนช่องทางจากช่องทางขวาสุดเพื่อมาทางซ้ายถัดมา และยังเปลี่ยนกลับไปยังช่องทางขวาอีกครั้ง เป็นเหตุให้รถยนต์ซีวิคของจำเลยพุ่งเข้าชนรถยนต์ตู้โดยสารทะเบียน 13-7795 กรุงเทพ ที่วิ่งระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต – อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีนางนฤมล ปิตาทานัง อายุ 38 ปี เป็นคนขับทำให้รถยนต์ตู้เสียหลักหมุนไปชนขอบกั้นทางโทลล์เวย์ พลิกคว่ำพังเสียหาย คนขับรถตู้โดยสารและผู้โดยสารภายในรถยนต์ตู้กระเด็นออกจากตัวตกจากทางด่วนเสียชีวิตรวม 9 คน และบาดเจ็บสาหัสจำนวนหนึ่ง ส่วนรถยนต์ของจำเลยแฉลบเลยจากรถยนต์ตู้ประมาณ 50 เมตร นอกจากนี้ ก่อนเกิดเหตุจำเลยยังได้ใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถยนต์ โดยมีหลักฐานเป็นรายงานการใช้โทรศัพท์มือถือของจำเลย ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธทั้ง 2 ข้อหา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศที่ศาลเยาวชนฯ มีบรรดาญาติผู้เสียหาย และเพื่อนๆ นักศึกษาที่เสียชีวิตเดินทางมาฟังการพิจารณาตั้งแต่ช่วงเช้า 8.30 น. ขณะที่สื่อมวลชนมาร่วมทำข่าวจำนวนมาก โดยทางศาลอนุญาตให้ช่างภาพอยู่นอกศาล ส่วนผู้สื่อข่าวสามารถเข้าด้านในศาลได้แต่ไม่อนุญาตให้เข้าฟังภายในห้องพิจารณาคดี แต่อนุญาตให้เฉพาะคู่ความเท่านั้นที่สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ ต่อมาเวลาประมาณ 9.30 น. น.ส.แพรวพราว ซึ่งสวมชุดสีขาวทับด้วยสูทสีดำ เดินทางมาพร้อมพ่อ-แม่ และทนายความ โดยเข้าประตูด้านหลังศาลฝั่งตรงข้ามกระทรวงกลาโหม เพื่อหลบกองทัพนักข่าว

เมื่อถึงเวลาศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ยังไม่สมควรมีคำพิพากษา แต่ให้คู่ความทุกฝ่ายร่วมประชุมกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาของแต่ละฝ่าย โดยให้ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุม เพื่อแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็ก เยาวชนและครอบครัวของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเป็นผู้ประสานงาน โดยนัดประชุมวันที่ 2 ก.ค.นี้ เวลา 9.00 น.  โดยให้คู่ความทุกฝ่ายทั้งนักจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ ผู้แทนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมประชุม และให้ศูนย์ฯ รายงานให้ศาลทราบ เพื่อกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาต่อไป

ภายหลังหลังจากการพิจารณาคดีกว่า 2 ชม.ครึ่ง นางยุวดี เยี่ยงยุกด์สากล พนักงานอัยการฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 1 เปิดเผยว่า ทางศาลได้มีข้อเสนอแนะให้ทั้งสองฝ่ายใช้วิธีไกล่เกลี่ยเรื่องค่าสินไหมทดแทน ตามพรบ.ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวกลาง พ.ศ.2553 มาตรา132 และวันนี้ยังไม่มีการพิพากษา แต่จะนัดทั้งสองฝ่ายมาไกล่เกลี่ยอีกครั้งในวันที่ 2 ก.ค.นี้ เวลา 9.00น. ซึ่งการนำพ.ร.บ.ฉบับนี้มาใช้ เนื่องจากเป็นการช่วยไกล่เกลี่ยและเยียวยาผู้เสียหายด้วย และหากการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จจะมีการพิพากษาต่อไป

 

และในเวลา 13.30 น. ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ญาติของผู้เสียชีวิตได้นัดหารือเกี่ยวกรณีดังกล่าวและได้ข้อสรุปว่าทางญาติยินดีที่จะยุติคดีหากจำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำผิดจากความประมาท แต่หากไม่ยอมรับผิดก็จะดำเนินคดีตามกระบวนการ โดยทีมกฎหมายเตรียมพร้อมสู้คดีในชั้นต่อไป

 

ต่อมา นายณรงค์ ใจหาญ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะที่ ปรึกษาด้านกฎหมายญาติผู้เสียหาย กล่าวภายหลังประชุมหารือว่า การไกล่เกลี่ยคดีนี้จำเลยต้องยอมรับสารภาพในความผิดก่อน ว่าได้ทำความผิดด้วยความประมาทจริง จึงจะสามารถพูดคุยไกล่เกลี่ยในวันที่ 2 ก.ค.นี้ได้ เพราะถ้าหากจำเลยไม่ยอมรับสารภาพ แต่จะมาไกล่เกลี่ยคดีแล้วจะเข้าถึงขั้นตอนของการเยียวยาได้อย่างไร ทั้งนี้ หากจำเลยยอมรับสารภาพและมีการไกล่เกลี่ยเกิดขึ้น ฝ่ายผู้ปกครองของจำเลยก็ต้องเสนอขั้นตอนของการเยียวยามา เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายตกลงพูดคุยกันในทางแพ่งและอาญาที่เป็นคดีความต่อกัน ซึ่งในทางกฎหมายเรียกวิธีการนี้ว่าการประชุมกับกลุ่มครอบครัว คล้ายๆ กับการยอมความใน คดี โดยหากสามารถพูดคุยตกลงกันได้ทางญาติผู้เสียหายก็จะทำบันทึกข้อตกลงยื่นต่อศาลเยาวชนฯ และจะถอนฟ้องคดีทางแพ่งด้วยหากไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องดำเนินการตามกระบวนการทางศาลต่อไป โดยทีมทนายความได้เตรียมต่อสู้ในชั้นอื่นด้วย

 

ด้าน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมาย ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ข่าวสดว่า หลังจากทีมกฎหมาย ม.ธรรมศาสตร์ ประชุมหารือกับญาติผู้เสียหายหลังจากมีคำสั่งศาลออกมานั้น ได้ข้อสรุปว่าฝ่ายญาติผู้เสียหายน้อมรับคำสั่งของศาลทุกประการ แม้คาดหวังว่าวันนี้จะมีคำพิพากษาออกมาก็ตาม และพร้อมที่จะพูดคุยกับฝ่ายจำเลยตามที่ศาลให้ไกล่เกลี่ย โดยประเด็นที่ฝ่ายญาติผู้เสียหายต้องการที่สุดในตอนนี้คือการเยียวยาสภาพจิตใจของพวกเขา ด้วยการยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำโดยประมาทของฝ่ายจำเลย พร้อมกับขอโทษฝ่ายญาติผู้เสียชีวิต รวมถึงความรับผิดชอบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะถ้าจำเลยยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำด้วยความประมาทคดีความต่างๆก็จะคลี่คลายไปทางที่ดีแต่หากจำเลยยังไม่ยอมรับว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทก็มีทางเดียวคือต้องรอคำตัดสินของศาลว่าจะออกมาอย่างไร

 

“เรื่องที่จะพูดคุยกันเรื่องแรกไม่ใช่เรื่องเงินชดใช้ค่าเสียหายแต่เป็นเรื่องของความเป็นธรรมว่าคนในครอบครัวของเขาเสียชีวิตด้วยเหตุอันใดเพราะญาติผู้เสียชีวิตคาดหวังการเยียวยาสภาพจิตใจมากกว่าเรื่องเงิน ทั้งคำขอโทษและการยอมรับว่าเป็นการกระทำโดยประมาท” นายปริญญา กล่าว

 

นายปริญญา กล่าวต่อว่า จริงๆการพูดคุยควรเกิดขึ้นก่อนมีการฟ้องร้องด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมาฝ่ายจำเลยไม่เคยติดต่อกับญาติผู้เสียชีวิตอย่างเป็นกิจลักษณะเลย มีแต่เพียงเงินช่วยเหลือในงานศพบางส่วนเท่านั้น